ธุรกิจเครื่องสำอางเกิดง่าย ดับยากจริงหรือ?

ผู้เขียน : Staff_KSR
| เผยแพร่ : 7 กรกฎาคม 2019

สุภาษิตที่ว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง

โดย ดร.ปรียา ผาติชล

ทำให้หลายคนมองว่าธุรกิจเครื่องสำอาง น่าจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่ดับยากโดยเฉพาะถ้าพิจารณาจากสัดส่วนประชากรหญิงต่อประชากรชายจากข้อมูลของกรมการปกครองที่ได้สรุปข้อมูลด้านประชากร ตลอดปี 2561 ไว้ว่ามีจำนวนประชากรทั่วราชอาณาจักร จำนวน 66,413,979 คน เฉพาะสัญชาติไทย เป็นเพศชาย 32,079,110 คน และเพศหญิง 33,420,841 คน พบสัดส่วนประชากร “สัญชาติไทย” เพศหญิงมากกว่าเพศชาย 1,341,731 คน ซึ่งหากมองว่าประชากรผู้หญิงที่รักสวยรักงามมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย อีกทั้งปัจจุบันก็เป็นที่สังเกตได้ทั่วไปว่าผู้ชายก็มีความสนใจในการใช้เครื่องสำอางมากขึ้นโดยดูได้จากดารา นักร้อง นักแสดงชายที่มีการโฆษณาและขายสินค้าประเภทเครื่องสำอางกันมากขึ้น น่าจะมีส่วนทำให้ธุรกิจเครื่องสำอางเติบโตและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

จากการประเมินแนวโน้มธุรกิจเครื่องสำอางและสกินแคร์ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ปี 2562 ธุรกิจเครื่องสำอางและสกินแคร์ เป็นธุรกิจรุ่งมาแรงโดยแนวโน้มในปี 2562-2566 คาดว่าตลาดเครื่องสำอางของไทยปี 2562-2566 จะเติบโตประมาณ 7.14% จากอัตราการเติบโตปี 2560 ที่ 7.8% มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.68 แสนล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มสกินแคร์สูงสุด มีสัดส่วน 47% ของทั้งหมด รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 18% เครื่องสำอาง 14% ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดร่างกาย 16% และน้ำหอม 5% เมื่อวิเคราะห์ตัวเลขมูลค่าธุรกิจเครื่องสำอางดังกล่าวก็จะพบว่ามูลค่าธุรกิจเครื่องสำอางในภาพรวมเติบโตต่อเนื่องและอัตราการเติบโตสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของธุรกิจเครื่องสำอางแม้จะมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจเครื่องสำอางเป็นปัจจัยสำคัญ หรือ อาจจะเป็นปัจจัยที่นอกเหนือจากปัจจัย 4 ที่ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจำนวนมากให้ความสำคัญกับการใช้ในชีวิตประจำวันไปแล้ว โดยจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของสถาบันความงามที่ตั้งในห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่มีในทุกห้างเช่นเดียวกับการมีซุปเปอร์มาร์เก็ตสำหรับการจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็น แต่การมองภาพธุรกิจเครื่องสำอางจากมูลค่ารวมของธุรกิจอาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าธุรกิจเครื่องสำอางเป็นธุรกิจที่ลงทุนแล้วจะเติบโตต่อเนื่องได้ เพราะในข้อเท็จจริงหากพิจารณาเป็นรายบริษัทที่ผลิตเครื่องสำอาง หรือรายผลิตภัณฑ์แล้ว ธุรกิจเครื่องสำอางจำนวนมากก็ล้มหายตายจากไปได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามองในเชิงการตลาดก็เป็นไปได้ว่าเพราะธุรกิจนี้มีการแข่งขันสูง คนที่จะเข้าสู่ธุรกิจเครื่องสำอางทำได้ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่าย เพราะต้องมีการผ่านการรับรองมาตรฐานต่างๆจากหน่วยงานภาครัฐที่ควบคุมดูแลมาตรฐาน และกฏระเบียบที่จะต้องให้ความคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย การจะครองตลาดเครื่องสำอาง และทำให้ธุรกิจเครื่องสำอางอยู่รอดปลอดภัยและทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด อีกทั้งการที่ธุรกิจเกิดแล้ว การจะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องก็ยากอีกเช่นกัน

ทั้งนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ตลาดเครื่องสำอางก็ยังมีการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของตลาดภาพรวมด้วยเช่นกัน ่ามกลางความท้าทายของตลาดเครื่อสำอางที่มีการแข่งันค่อนข้างูง ผู้ประกอบการที่เป็นธุรกิจ SMEs จึงต้องหามาตรการเพื่อเพิ่มศักยภาพและโอกาสในการเข้าสู่ตลาดมากขึ้น เช่น การสรรหานวัตกรรมหรือวัตถุดิบที่พัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือมีการวิจัยขึ้นมาใหม่ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน และสร้างความแตกต่างและยกระดับคุณภาพรวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) ทั้งส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ กระบวนการ/ขั้นตอนการผลิต จนกระทั่งถึงรูปลักษณ์ภายนอกหรือบรรจุภัณฑ์ที่ต้องออกแบบให้ตรงกับความต้องการของตลด ตลอดจนการมองหาโอกาสในการขยายตลาดใหม่ไปยังต่างประเทศด้วย

จากแนวโน้มการแข่งขันที่สูง แต่โอกาสในการเติบโตก็ยังมี ประเด็นสำคัญของการทำธุรกิจเครื่องสำอางจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับกระบวนการผลิตและการทำการตลาดที่มีคุณภาพ และสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภคที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทำให้เกิดการจัดทำหลักสูตรอบรมด้านการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและได้คุณภาพมาตรฐานที่ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการ การที่จะเข้าสู่ธุรกิจเครื่องสำอางจึงไม่ใช่ว่าจะเกิดง่าย และดับยาก หากขาดซึ่งความรู้ความเข้าใจในการที่เข้าสู่ตลาดธุรกิจนี้ อย่างแท้จริง

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง นอกจากผู้ผลิตภายในประเทศที่ต้องแข่งขันกันเองอย่างสุดฤทธิ์แล้ว การนำเข้าเครื่องสำอางจากต่างประเทศก็เป็นคู่แข่งสำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นกัน ทำอย่างไรให้เราสามารถรักษาตลาดเดิม และสามารถตีตลาดธุรกิจเครื่องสำอางนำเข้าได้ รวมถึงขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศได้ จะต้องมีกลยุทธ์อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะทำให้คำพูดที่ว่า ธุรกิจเครื่องสำอางเกิดง่าย ดับยากเป็นไปได้ ซึ่งต้องมีการเรียนรู้ผลิตภัณฑ์และตลาดอย่างแท้จริง จากคำถามที่ผู้ประกอบการจำนวนมากสงสัยว่าทำอย่างไรจึงจะเรียนรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์และตลาดเครื่องสำอาง ทำให้เกิดธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการผลิตเครื่องสำอาง คือ ธุรกิจบริการด้านผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ธุรกิจการจัดอบรม สัมมนา จัดอบรมเชิงปฎิบัติการ (Workshop) และที่ปรึกษา ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของศูนย์ผึกอบรม และบริษัทรับจัดอบรมด้านนี้โดยเฉพาะ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นช่องทางในการพัฒนาการเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดอย่างต่อเนื่อง